การจัดการในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

 

สถานการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรวมในอนาคต เป็นการคาดหวังเป้าหมายสูงสุดหรือผลการพัฒนาที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตอบสนองกระแสความต้องการด้านอนุรักษ์ กระแสความต้องการของตลาด และกระแสของการพัฒนาคน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว ตลอดจนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมาย ขั้นตอน และวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถกำหนดผลสำเร็จของการจัดการและโครงข่ายความเชื่อมโยงที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการปรับสภาพความสมดุลย์ของกระแสความต้องการของแต่ละด้าานในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรักษาระบบนิเวศ

การจัดการในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถควบคุมขนาดของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เหมาะสม โดยเฉพาะองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ ทางด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว ตลาดการท่องเที่ยว และองค์กรการบริหารการจัดการ ซึ่งจะมีประสิทธิผลให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถอำนวยประโยชน์ ดำรงสถานภาพ บทบาทหน้าที่ และฟื้นตัวได้ตามสภาพธรรมชาติ นักท่องเที่ยว ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป มีจิตสำนึกและมีความตระหนักในการอนุรักษ์ ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และมีขีดความสามารถในการจัดการ เกิดความภูมิใจ และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน

กล่าวโดยสรุป เป้าหมายของแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้น คือการสร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน คนในท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ อีกทั้งเพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ดังนั้นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงประกอบไปด้วย

1. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะต้องมีการควบคุมดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรให้คงสภาพเดิมแท้ไว้ให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่อนไหว ง่ายต่อการถูกกระทบ และฟื้นตัวยาก
2. การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และการปรับให้เกิดความสมดุลกับรูปแบบและกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ พึงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ หากเน้นในการแปรประโยชน์จากการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสู่การจัดการการท่องเที่ยวโดยรวม
3. การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้การศึกษา สร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศร่วมกัน มากกว่าการมุ่งเน้นความเจริญทางเศรษฐกิจ และการมีรายได้เพียงอย่างเดียว
4. การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต้องให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร การบริการ การแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมชุมชนในกระบวนการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนา หรือให้ประชาชนมีตัวแทนเป็นคณะกรรมการร่วมในทุกระดับ
5. ให้ความสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นความจำเป็นอันดับต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งนี้ให้องค์กรต่างๆ กำหนดบทบาทที่ชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดวิธีที่เหมาะสม
6. นำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เข้าสู่แผนพัฒนาระดับต่างๆ อย่างมีความสำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาค พร้อมทั้งให้มีการจัดสรรและกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึงและพอเพียง
7. สนับสนุนการศึกษา วิจัย และประเมินผลการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการ การแก้ไขปัญหาและปรับปรุงแผนอย่างเป็นขั้นตอน
8. มีการใช้กฎหมายในการควบคุม ดูแล รักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยการแนะนำ ตักเตือน และสร้างวินัยการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย
9. จัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือคู่มือการจัดการ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างถูกต้อง
10. จัดให้มีเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยให้มีการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารและการจัดการร่วมกันทุกระดับ

This entry was posted in ท่องเที่ยว and tagged . Bookmark the permalink.