การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ และมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการที่สุด

รัฐบาลทุกประเทศและมนุษย์ทุกคนควรส่งเสริมสนับสนุน เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ทำให้มนุษย์มีทัศนคติกว้างไกล ผ่อนคลายความเครียด เกิดความสนุกสนาน เป็นการพักผ่อน อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจอันดีและสัมพันธภาพระหว่างมนุษยชาติ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชนในชาติและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาประเทศต่างๆทั่วโลกมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ของประชากรดีขึ้น จึงมีเงินออมเหลือเพื่อการจับจ่ายใช้สอยหาความสุขทางด้านอื่นๆได้ การคมนาคมสะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จึงทำให้ประชากรที่ว่างจากธุรกิจการงานหาโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆตามที่ต้องการ

การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีศักยภาพในการทำรายได้ให้กับประเทศไทยสูง ดังนั้น นโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย และการให้บริการระดับสากล โดยการเน้นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเชิงรุก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลก รวมทั้งการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการ ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวก็วิวัฒนาการเข้าสู่ยุคแห่งโลกาภิวัตน์และสารสนเทศชั้นสูง ถึงวันนี้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารและการคมนาคมขนส่งต่างๆได้ด้วยตนเองโดยผ่านช่องทางสื่อสารที่เรียกกันว่า อินเตอร์เน็ต ที่นับวันยิ่งครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นในทุกกรณี ดังนั้นการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆที่อาจจะเกินเลยความจริงไปบ้างตามชั้นเชิงฝีมือและนโยบายทางการค้า จึงต้องลดความสำคัญลงไป แต่การพัฒนาคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆกลับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นภาครัฐจึงจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวขึ้นเพื่อจะมีอำนาจในการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

การพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทย

เพื่อมุ่งไปสู่รูปแบบของการจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์นั้น ภารกิจการท่องเที่ยว สร้างสรรค์ขององค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเบื้องต้นจะเป็นการนำเสนอแนวคิดการจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์แก่ชุมชนเกิดเป็นต้นแบบของแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาท่องเที่ยวเพื่อหารูปแบบของการจัดการการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวสร้างสรรค์พร้อมกับประเมินผลลัพธ์หรือประโยชน์ที่ผู้มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนจะได้รับทั้งที่สามารถจับต้องได้ และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวสร้างสรรค์

การท่องเที่ยวสร้างสรรค์นับได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เมื่อ อ้างอิงจากความหมายของการท่องเที่ยวในรูปแบบที่มีมาก่อน แต่เดิมการท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเป็นการใช้เวลาในการพักผ่อนหย่อนใจ แสวงหาความสุขและความเพลิดเพลินที่ได้รับจากการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ แม้ต่อมาการท่องเที่ยวได้เพิ่มรูปแบบให้มีการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์หรือเชิงวัฒนธรรม โดยจะเน้นรูปแบบของการท่องเที่ยวไปยังพิพิธภัณฑ์หรือโบราณสถานต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีมิติของการพัฒนาและสร้างความสมดุลในชุมชนโดยการใช้การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

This entry was posted in ท่องเที่ยว and tagged , , . Bookmark the permalink.