เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวหลายพื้นที่ของไทยมักประสบปัญหาชาวต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการท่องเที่ยวแต่แอบอ้าง หรือใช้ชื่อคนไทยจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ โดยมีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับกรมการท่องเที่ยว และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบ กำกับดูแล ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของไทยให้มีความน่าเชื่อถือเข้มแข็งและยั่งยืน
เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งธุรกิจนำเที่ยวให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อป้องปรามปัญหานอมินีและสกัดกั้นผู้ที่ไม่หวังดีในการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของไทย โดยออกระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจนำเที่ยวต้องได้รับอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวก่อน โดยมีขั้นตอน ดังนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ทั่วไปๆ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำหนังสือรับรองนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้ไปยื่นขอความเห็นชอบประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากกรมการท่องเที่ยว นำหลักฐานใบอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวมายื่นจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์นำเที่ยวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินธุรกิจนำเที่ยวได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อจากนี้ไปความลำบากของธุรกิจจะไม่ใช่เรื่องการหาตลาดรองรับเพราะ AEC จะช่วยสร้างตลาดและฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่พร้อมไว้สำหรับทุกธุรกิจ จากการค้าบริการรูปแบบเดิมๆ จะเพิ่มรูปแบบใหม่ๆ และขยายขอบเขตได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจจัดงานแต่งงานที่จากเดิมเน้นอยู่เพียงตลาดในประเทศก็เริ่มดึงดูดลูกค้าจากต่างประเทศ ก้าวต่อไปของธุรกิจไทยคงจะเป็นการพยายามเจาะกลุ่มตลาดและกลุ่มธุรกิจที่เราเก่ง และใช้แก่นความสามารถอย่างเต็มรูปแบบเร่งยึดพื้นที่หัวหาด หยิบชิ้นปลามัน สร้างรอยเท้าของธุรกิจไทยในระดับอาเซียนให้พร้อมก้าวไกลสู่ระดับโลกต่อไปในอนาคต