การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมายถึง การท่องเที่ยวที่มีท่าทีในการอนุรักษ์ การอนุรักษ์มีความหมายในการร่วมกันป้องกันรักษาให้คงเดิม โดยจะเป็นการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทุกประเภท คือธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มีรูปแบบ อนุรักษ์โดยองค์กรที่รับผิดชอบ หรือโดยนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีวิธีการที่หลากหลายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มุ่งเน้นการจัดการและบริหารทรัพยากร ให้คงมีอยู่อย่างยั่งยืนตามนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติ ทั้งนี้เพราะมีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างมากมาย จนทำให้เสียสมดุลของธรรมชาติ และส่งผลต่อการดำรงชีวิต และพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดเป็นนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแนวความคิดที่พึ่งปรากฏขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และยังมีการใช้คำภาษาอังกฤษอื่นๆที่ให้ความหมายเช่นเดียวกัน ที่สำคัญได้แก่ Nature Tourism, Biotourism, Green Tourism เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวดังกล่าวล้วนแต่เป็นการบ่งบอกถึง การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism) ซึ่งจากการประชุม Globe 1990 ณ ประเทศแคนาดาได้ให้คำจำกัดความของการท่องเที่ยว แบบยั่งยืนว่า “การพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้เป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวน รักษาโอกาสต่างๆของอนุชนรุ่นหลังด้วย การเปลี่ยนแปลงทิศทางของการท่องเที่ยวได้เริ่มขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมในราวคริสต์ศักราชที่ 1980 ที่มีการนำเสนอทางเลือกใหม่ของการท่องเที่ยวในรูปแบบการนำเสนอ เช่น Appropriate, Solf, Green, Sustainable และ Ecotourism เป็นต้น ซึ่ง Ecotourism เป็นรูปแบบที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทย Ecotourism เป็นทางเลือกที่หลายฝ่าย เห็นว่ามีความเหมาะสมในการ พัฒนาเป็นรูปแบบหลักและให้มีการจัดการที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทยก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ดูดาว แค้มปิ้ง เดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ เพื่อศึกษาสภาพผืนป่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค มีทั้งป่าดึกดำบรรพ์ ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าผลัดใบ ส่วนสัตว์ป่าของไทยนั้นก็มีความหลากหลายไปตามสภาพป่าเช่นกัน เช่น เสือโคร่ง เสือดาว ช้าง กวาง หมี ลิง ชะมด และนกหลายสายพันธุ์ เป็นต้น อุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์ท่องธรรมชาติดูสัตว์ป่าได้ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก เป็นผืนป่ามรดกโลกของไทยที่นักท่องเที่ยวสามารถพบช้างป่า เก้ง กวางได้ไม่ยาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีสัตว์ป่ามากมาย ทั้งเสือโคร่ง ช้าง วัวป่า ชะนี นกเงือก และฝูงผีเสื้อหลากสีนับพันตัว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ คือที่ตั้งของขุนเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย